ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 28 ก.ย. 2567
ผู้ใหญ่บ้านชวดประกัน แชตลวงขยี้ เด็กหญิง วัย 11 ปี รวบซาตานเฒ่า ล่วงละเมิด 8 ขวบ
ผู้ใหญ่บ้านหื่น แชตเฟซบุ๊กลวงขยี้กามเด็กหญิงวัย 11 ปี ฉวยโอกาสช่วงแม่เด็กเข้างานกะดึก ดอดมารับเหยื่อไปย่ำยีในเถียงนา ทำมาแล้ว 3 ครั้ง ขู่ถ้าบอกใครจะเอาถึงตาย แม่ใจสลายร้อง “ปวีณา” ช่วยเหลือ หลังพบลูกสาวกลายเป็นเด็ก ซึมเศร้า ตำรวจเมืองสระบุรีตะครุบตัวทันควัน รับทำจริง คุมส่งฝากขัง ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน คอตกนอนคุกทันที อีกรายญาติผู้พี่ร้องน้องสาวถูกเฒ่าตัณหากลับเป็นพ่อของอดีตสามีล่วงละเมิดมาราธอน 3 ปี ตั้งแต่เด็ก 8 ขวบ ตำรวจท่าตะเกียบล็อกซาตานหื่นมาสอบ จำนนต่อหลักฐานมีคลิปลามกมัดตัวแน่น
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๗๗ ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
-ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
-ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
-ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
-ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแทนการลงโทษก็ได้ ในการพิจารณาของศาล ให้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อมของผู้กระทำความผิดและเด็กผู้ถูกกระทำ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำความผิดกับเด็กผู้ถูกกระทำ หรือเหตุอื่นอันควรเพื่อประโยชน์ของเด็กผู้ถูกกระทำด้วย
-ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแล้ว ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าการคุ้มครองสวัสดิภาพดังกล่าวไม่สำเร็จ ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ในการพิจารณาของศาล ให้คำนึงถึงเหตุตามวรรคห้าด้วย
มาตรา ๓๑๗ ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
– ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
– ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2536 ความผิดฐานพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครอง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามมีกำหนด 5 ปีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานนี้นั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกนั้น ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุ 14 ปีเศษ น่าจะมีความรู้ทางเรื่องเพศได้พอสมควร ทั้งก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายรักใคร่ชอบพออยู่กับจำเลยมาก่อน ที่ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยเข้าไปกระทำชำเราภายในบ้านและสถานที่อื่นก็ด้วยความสมัครใจและยินยอมของผู้เสียหาย ความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนักสมควรที่จะลงโทษจำเลยในสถานเบาโดยให้จำคุกในอัตราขั้นต่ำของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069/2538 ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อหาฐานกระทำชำเรา ซึ่งศาลอุทธรณ์ยืนตาม ศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จึงไม่รับฎีกาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เห็นว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3ที่แก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 24 ปี 5 เดือน 10 วัน ข้อหาพรากผู้เยาว์ให้ยกนั้น เป็นการแก้ไขมาก คดีของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้อง ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วย หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้อง แล้วหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม,317 วรรคสาม เป็นความผิด หลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรม เด็กหญิงโดยไม่ยินยอม ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานพรากผู้เยาว์เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจาร ให้จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกฐานกระทำชำเราเป็นจำนวน 25 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 28 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี จำคุก 10 ปี ฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 16 ปีข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษ ให้จำเลยที่ 1 ลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ฐานกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรม เด็กหญิงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 53 ลงโทษ จำคุก 25 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุยังไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 3 ปี ลดโทษ ให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก ฐานกระทำชำเรา 12 ปี 6 เดือน ฐานพรากผู้เยาว์จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 12 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้วจำคุก 6 ปี 8 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 4 ปี 5 เดือน 10 วัน ให้ยกฟ้องข้อหาพรากผู้เยาว์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 126) จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 130 แผ่นที่ 2)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลย ไม่ได้แก้บทมาตราด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลย ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น เป็นการ โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ข้างต้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
แหล่งที่มา:
– ไทยรัฐออนไลน์
– กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
– สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี
[vid_embed]
ดูเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/100044524780558/posts/1077773940383422
เพจ Facebook :
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี