ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 มีนาคม 2567
บุกบ้านเซียนพระ ปืนจี้โอน 1.8แสน ฉกมือถือไป 5 เครื่อง ปมหักหลังซื้อขาย
โจรกรุงเหิม ควงปืนบุกจี้ชิงทรัพย์เซียนพระถึงบ้านกลางวัน แสกๆ บังคับโอนเงิน 1.8 แสนบาท แถมหอบโทรศัพท์มือถือไปอีก 5 เครื่อง หลบหนีลอยนวลโดยไม่ได้อำพรางตัว เพราะรถ จยย.พาหนะก่อเหตุยังติดทะเบียนหรา
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๓๗ ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
(๑) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
(๒) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
มาตรา ๓๓๙ ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท๒
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา ๓๔๐ ตรี ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๓๙ ทวิ มาตรา ๓๔๐ หรือมาตรา ๓๔๐ ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8104/2548 ปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธได้หรือไม่ ในกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธติดตัวมาและไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธข่มขู่ผู้เสียหาย และปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 หนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ฐานใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมได้หรือไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 เพียงนำรถจักรยานยนต์เที่ยวเตร่กับจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุยังคงขับรถเที่ยวโดยไม่ได้หลบหนีนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แต่ปัญหาทั้งสองประการเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
ในความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธ ถ้าผู้ร่วมกระทำความผิดแม้คนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำความผิดที่ไม่มีอาวุธหรือไม่รู้ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันมีอาวุธติดตัวไป ก็ย่อมมีความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ทั้งยังเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามบทกฎหมายเดียวกัน
จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วขับรถจักรยานยนต์พาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจากที่เกิดเหตุ ก็เป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์นั้นไปตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
แหล่งที่มา:
– ไทยรัฐออนไลน์
– กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี
[vid_embed]
ดูเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/100044524780558/posts/951162409711243
เพจ Facebook :
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี