ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 กันยายน 2567
จับหมอกำมะลอ ฝังมุก “มังกรเน่า” ฉีดขยายเจ้าโลก เรียนจบ-แค่ ม.3 ทํามาเกือบ 20 ปี
ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.พร้อมเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) รวบหนุ่มหมอเถื่อนโพสต์เฟซบุ๊กรับฝังมุก-ฉีดเพิ่มขนาดเจ้าโลก มีลูกค้าบาดเจ็บน้องชายติดเชื้ออักเสบรุนแรง ไม่สามารถใช้การได้ตลอดชีวิต สอบสวนเจ้าตัวสารภาพจบแค่ ม.3 ทำมานานกว่า 20 ปี คิดค่าบริการครั้งละ 5,000-20,000 บาท
พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559
มาตรา 16 ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
การขอ การออกใบอนุญาต และการประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 24 ห้ามมิให้บุคคลใดดําเนินการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
การขอและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 57 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลจะสั่งริบบรรดาสิ่งของที่ใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลด้วยก็ได้
พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กระทำต่อตนเอง
(2) การช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยตามศีลธรรมโดยไม่รับสินจ้างรางวัล แต่การช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าวต้องมิใช่เป็นการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสารใด ๆ เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย การแทงเข็มหรือการฝังเข็ม เพื่อบำบัดโรคหรือระงับความรู้สึก หรือการให้ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณีแก่ผู้ป่วย
(3) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรม ในความควบคุมของสถาบันการศึกษาของรัฐบาล สถาบันการศึกษาที่รัฐบาลอนุมัติให้จัดตั้ง สถาบันทางการแพทย์ของรัฐบาล สถาบันการศึกษาหรือสถาบันทางการแพทย์อื่นที่คณะกรรมการรับรอง ที่กระทำการฝึกหัดหรือฝึกอบรมวิชาชีพเวชกรรม หรือการประกอบโรคศิลปะภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกหัด หรือผู้ให้การฝึกอบรม ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ
(4) บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(5) ผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งประกอบโรคศิลปะตามข้อจำกัด และ เงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
(6) การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของต่างประเทศ ทั้งนี้ โดยอนุมัติของคณะกรรมการ
(7) การประกอบโรคศิลปะของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการ ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะของต่างประเทศ ทั้งนี้ โดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
มาตรา 43 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9283/2551 สถานพยาบาลตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 หมายความว่า สถานที่ซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะหรือการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงเป็นการกระทำด้วยเจตนาจัดสถานที่เพื่อการตรวจรักษาโรคโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต่างจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ที่จำเลยมีเจตนาตรวจรักษาโรคให้สตรี ตรวจภายใน หรือทำแท้ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต
เมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาประกอบกับบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลแล้วได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยใช้บ้านพักของจำเลยเป็นสถานให้บริการทำแท้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 57 มิใช่มาตรา 47 ที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีเป็นเรื่องโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำคุก 2 ปี ฐานประกอบโรคศิลปะ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานประกอบโรคศิลปะ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน ไม่ริบบัตรประจำตัวประชาชนลูกค้า บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรประจำตัวนักศึกษาวิทยาลัยราชภัฏเลย และให้คืนแก่เจ้าของ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี
[vid_embed]
ดูเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/100044524780558/posts/1069268087900674
เพจ Facebook :
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี