ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 29 มีนาคม 2567
ทลายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลวงโลก อวดอ้างเกินจริง รักษาสารพัดโรค
“ปคบ.” จับมือ “อย.” ทลายเครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลวงโลก จ้างบุคคลมีชื่อเสียง-ดารา โฆษณาเกินจริง อ้างรักษาโรคร้ายได้สารพัด ทั้งมะเร็ง เบาหวาน โรคตับ ไต ยันโรคเกาต์ ราคาสูงถึงขวดละ 1,450 บาท ตรวจสอบแล้วขออนุญาตแค่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น ตรวจยึดของกลางมูลค่ากว่า 10 ล้านบาทส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสารประกอบ ก่อนเรียกกรรมการบริษัทและผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี
พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ซึ่งอาหารดังต่อไปนี้
(1) อาหารไม่บริสุทธิ์
(2) อาหารปลอม
(3) อาหารผิดมาตรฐาน
(4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร
มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้อง
นำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3308/2529 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบังอาจผลิตอาหารปลอม โดยผลิตซอสน้ำมันหอยที่ผสมปรุงแต่ง และทำขึ้นเทียมซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่ อ.ผลิตทำขึ้น และทำออกจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น ซอสน้ำมันหอยที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีจำนวนจุลินทรีย์เกินมาตรฐานที่กำหนด และใช้กรดเบนโซอิคเป็นวัตถุกันเสียเกินปริมาณกำหนด จนทำให้เกิดโทษและอันตรายแก่ผู้บริโภค และจำเลยได้นำอาหารที่ผลิตขึ้นนั้นแบ่งบรรจุขวด แล้วนำฉลากเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำปลอมขึ้นปิดที่ขวด เพื่อ ลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ และประโยชน์ว่า อาหารดังกล่าวเป็นซอสน้ำมันหอยตราชาวประมงที่แท้จริงที่ อ.ผลิตขึ้น คำบรรยายฟ้องดังกล่าว จึงครบถ้วนตามความหมายของอาหารปลอม ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 27 (2), (5) และ (4) แล้ว และได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่สมบูรณ์.
ฟ้องโจทก์กล่าวว่าจำเลยผลิตอาหารโดยมีจำนวนจุลินทรีย์เกินกำหนดมาตรฐานและใช้กรดเบ็นโซอิคเป็นวัตถุกันเสียเกินปริมาณที่กำหนดจนทำให้เกิดโทษและอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีจำนวนจุลินทรีย์เท่าใดและใช้กรดเบ็นโซอิคจำนวนเท่าใดเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ในชั้นพิจารณาเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ
ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดฐานผลิตอาหารปลอมตามพระราชบัญญัติอาหาร เป็นความผิดตามกฎหมายคนละฉบับและแยกจากกันได้ แม้จำเลยจะกระทำในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรม
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี
[vid_embed]
ดูเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/100044524780558/posts/967380198089464
เพจ Facebook :
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี