ถามตอบกฎหมายข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 สิงหาคม 2566
โจ๋เมืองนนท์โหด ไล่ยิงดับ 2 เจ็บ 1 กลับจากตลาดนกฮูกเช็กวงจรปิดล่ามือปืน
คนร้ายซิ่งกระบะไล่ยิงโจ๋เมือง นนท์ดับ 2 เจ็บ 1 กลับจากเที่ยวงาน ตลาดนัดนกฮูกขณะขี่รถ จยย.ออกจากตลาด คู่อริดักรอขับรถกระบะไล่กวดขว้างระเบิดปิงปองใส่ต่างหนีกระเจิง เมื่อสบโอกาสขับรถประกบกระหน่ำยิงไม่ยั้งแล้วเผ่นหนี ขณะที่ตำรวจเร่งไล่ล่าพร้อมตรวจสอบกล้องวงจรปิดหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดี
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 371 ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น
พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
มาตรา 8 ห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้
มาตรา 8 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด
ความในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่
(1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
(2) ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ข) หรือ (ค) ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการป้องกันประเทศหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือรักษาทรัพย์สินอันสำคัญของรัฐ
(3) ประชาชนผู้ได้รับมอบให้มีและใช้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการและมีเหตุจำเป็นต้องมี และใช้อาวุธปืนในการนั้น
มาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง นำเข้า ค้า หรือจำหน่ายด้วยประการใด ๆ ซึ่งวัตถุระเบิดเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2544 ผู้ตายใช้มีดฟันจำเลยแล้วต่างล้มลงแย่งมีดกัน จำเลยลุกขึ้นได้ก่อนชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายมุดหนีไปใต้แคร่จำเลยก้มมองและส่ายอาวุธปืนไปมาแล้วเดินอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของแคร่ยิงผู้ตายอีก 2 นัด จากนั้นจำเลยใช้มีดของผู้ตายฟันผู้ตายตรงส่วนของร่างกายที่โผล่พ้นออกมานอกแคร่มากกว่า 3 ครั้งโดยผู้ตายไม่มีโอกาสจะทำร้ายจำเลยได้อีก ภยันตรายเป็นอันผ่านพ้นและสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจึงไม่อาจกระทำการป้องกันสิทธิของตนได้ทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการหาโอกาสเลือกยิงและฟันผู้ตายโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย มิใช่เป็นการกระทำในขณะไม่อาจควบคุมอารมณ์ได้เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอันจะอ้างได้ว่าเป็นเหตุบันดาลโทสะ
ความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมืองหมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376กับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามมาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4942/2550 พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ ป.อ. มาตรา 371 มิได้กำหนดองค์ประกอบในการกระทำความผิดว่าอาวุธปืนหรืออาวุธที่พาไปต้องเป็นอาวุธปืนหรืออาวุธที่สามารถใช้ได้ทันที ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะพาอาวุธปืนของกลางไปโดยมีกระสุนปืนอยู่ในรังเพลิงหรือไม่ก็ตาม ก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ และ ป.อ. มาตรา 371 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1763/2529 คดีความผิดพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ และความผิดลหุโทษเกี่ยวกับอาวุธปืน แม้ไม่ได้อาวุธปืนและกระสุนปืนจากจำเลยเป็นของกลาง แต่ฟังได้ว่าจำเลยชักอาวุธปืนออกมายิงขึ้นฟ้า 1 นัด จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ก็ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในหมู่บ้าน ในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในเมืองหมู่บ้าน หรือที่ชุมชนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13193/2556 ความผิดฐานทำวัตถุระเบิดและฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 38 และมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 78 ด้วยกัน เมื่อวัตถุระเบิดที่จำเลยทำกับวัตถุระเบิดที่ครอบครองเป็นระเบิดลูกเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันตาม ป.อ. มาตรา 90
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
แหล่งที่มา:
– หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
– เนติบัณฑิตยสภา
– กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
สงสัยกฎหมาย 0816116174 ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี
[vid_embed]
ดูเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/100044524780558/posts/837682247725927
เพจ Facebook :
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี